(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้เข้าร่วมค่ายสื่อสารมวลชนข้ามช่องแคบเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มองโกเลียในในนครฮูฮอต เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน วันที่ 21 ส.ค. 2024)
ไทเป, 30 ก.ย. (ซินหัว) -- ครูหลายคนในภูมิภาคไต้หวันของจีนแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาที่มุ่งนำองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจีนออกจากหลักสูตรและตำราเรียน พร้อมเรียกร้องการทำงานเพื่อปลุก "จิตวิญญาณจีน" ในใจของชาวไต้หวัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
เมื่อวันเสาร์ (28 ก.ย.) ซึ่งตรงกับวันเกิดของขงจื่อและวันครูในไต้หวัน อู๋คุนไฉ ศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเจียอี้ เปิดเผยว่าแนวทางหลักสูตรที่นำเสนอในปี 2019 กำลังเผชิญเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากชุมชนวิชาการของไต้หวัน โดยแนวทางนี้เป็นผลมาจากนโยบายการศึกษาที่นำมาใช้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งมุ่งนำองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจีนออกจากหลักสูตรและตำราเรียน และตัดสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับแผ่นดินใหญ่ของจีน
โอวกุ้ยจือ ครูจากโรงเรียนมัธยมปลายหญิงไทเป เฟิร์ส (Taipei First Girls High School) สะท้อนคำวิจารณ์ที่คล้ายคลึงกันขณะแบ่งปันประสบการณ์การสอนกว่า 30 ปีของเธอ โดยระบุว่าตนเข้ามาอยู่ในแวดวงการศึกษาตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ไต้หวันเริ่มปฏิรูปการศึกษา ซึ่งในตอนแรกตนยังคงมองบวกและคิดว่าสามารถควบคุมวิธีการตีความหนังสือเรียนได้ ทว่าสิ่งนั้นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของฝันร้าย
สำหรับหลักสูตรวิชาภาษาจีน โอวกล่าวว่าหนังสือเกี่ยวกับวรรณกรรมจีนดั้งเดิมที่ต้องอ่านนั้นถูกลดลงจาก 60 เรื่อง เหลือ 45 เรื่อง และเหลือ 30 เรื่อง จนปัจจุบันเหลือเพียง 15 เรื่อง ส่วนจำนวนชั้นเรียนลดเหลือเพียง 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจงใจบั่นทอนอัตลักษณ์ของนักเรียนที่มีต่อความเป็นจีน และตัดความเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกกับเพื่อนร่วมชาติในแผ่นดินใหญ่
โอวระบุว่า "ฝันร้าย" นี้แผ่ขยายออกไปมากกว่าในห้องเรียน เมื่อผู้คนห่างเหินจากวรรณกรรมจีนดั้งเดิม คนรุ่นใหม่จึงสูญเสียเข็มทิศทางศีลธรรมที่เคยชี้นำและสนับสนุนบรรพบุรุษของพวกเขา
ด้านอู๋เสริมว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครเกิดมาเพื่อสนับสนุน "เอกราชไต้หวัน" เพราะ "เอกราชไต้หวัน" เป็นเพียงแค่อุดมการณ์ที่ปลูกฝังขึ้นโดยเจตนาจากนักการเมืองบางคนเพื่อจุดประสงค์ของตนเอง แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้
อู๋สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาหลายคนไปเยือนแผ่นดินใหญ่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และประทับใจกับมุมมองความคิดของเด็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยก่อนไปเยือนแผ่นดินใหญ่ นักศึกษาเหล่านี้เรียกอีกฟากหนึ่งของช่องแคบไต้หวันว่า "จีน" แต่กลับเริ่มใช้คำว่า "แผ่นดินใหญ่" หลังจากที่พวกเขากลับมา อีกทั้งสอบถามเกี่ยวกับโครงการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกับแผ่นดินใหญ่
โอวระบุว่าเนื่องจากเจ้าหน้าที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของเกาะไต้หวันยังคงไม่มีท่าทีจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาดังกล่าว ชนชั้นรากหญ้าจึงจำเป็นต้องทุ่มเทความพยายามเพื่อสร้างมุมมองทางประวัติศาสตร์บนพื้นฐานอัตลักษณ์ของจีนและฟื้นฟูการศึกษาวัฒนธรรมดั้งเดิม
"นักการเมืองมาแล้วก็ไป แม้อุดมการณ์จะเปลี่ยนแปลง แต่ภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษมานานหลายพันปีจะไม่มีวันเลือนหายไป ฉันมั่นใจ" โอวกล่าวทิ้งท้าย